ถ้าเราทำกิจการ, บริษัท, ธุรกิจ, หรือร้านค้า โดยไม่มี Facebook ได้ไหม? คำตอบในปี พ.ศ. 2563 นี้เห็นที่จะไม่ได้ แม้จะจำเป็นที่สุดต่อธุรกิจหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ก็คิดในทำนองว่า “มี ดีกว่า ไม่มี” แต่ถ้าเราไม่มี Facebook ขึ้นมาจริง ๆ ล่ะ?…
จากประเด็นข่าวในช่วงเดือน สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา การพยายามปิดกัน “กลุ่ม” ใน Social media คือ Facebook ของประเทศไทย ซึ่งประเด็นปัญหาจากเรื่องการเมือง โดยในทีนี้จะพูดในแง่ บทความธุรกิจ จึงไม่ได้เขียนเกี่ยวข้องกับเนื้อหา หรือมีความเห็นต่อข่าวนั้นแต่อย่างใด เพียงแต่จากประเด็นดังกล่าวทำให้คิดได้ว่าหากประเทศไทยเราแบน (ban) Facebook ม่ให้ใช้ขึ้นมาเหมือนประเทศจีนจะเป็นอย่างไร?..
เบื้องต้นภาคประชาชนทั่วไป (ที่ไม่เกี่ยวด้านการค้าขาย) คงมีความเดือดร้อนแตกต่างกันไป เริ่มจาก เสียดายรูปภาพ, เสียดายเรื่องราวที่เคยโพสต์ เคยเขียน, กลัวหาเพื่อนไม่เจอ ต่อมาก็จะมีปัญหาเรื่องการผูกบัญชี คือใช้ Facebook สำหรับล๊อกอิน อาจจะจำไม่ได้ว่าผูกเว็บไซต์ หรือบริการไหนไว้บ้าง (ส่วนตัวผมไม่ค่อยจะผูกอะไรที่สำคัญ ๆ เพราะความสะดวกก็จะแลกมาด้วยความปลอดภัย)
ซึ่งเชื่อว่าแม้จะกระทบในวงกว้าง แต่ก็น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น เพราะที่สุดแล้วแง่ผู้ใช้ทั่วไป ก็สามารถใช้ตัวอื่น แอพอื่น ทดแทนไปในที่สุด (ต่อไปจะขอเขียนคำว่าเฟซบุ๊ก Facebook สั้น ๆ เป็น FB)
ถ้าธุรกิจไม่มี Facebook แล้ว?
แต่ถ้าเป็นภาคธุรกิจล่ะ ไม่ว่าจะค้าขายทั่วไป ไปจนบริษัทใหญ่ ผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ลองมาช่วยกันคิดวิเคราะห์ดู แน่นอนว่าประเด็นหลัก ๆ คงเป็นเรื่องแง่มุมทาง “การตลาด” สำหรับผมจะแบ่งเป็นข้อ ๆ โดยผลกระทบย่อมมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาดของธุรกิจ ทีแรกผมก็จะเขียนแยกกันระหว่างประเภท กับขนาด เพียงแต่บางมุมก็ไม่ต่างกันจึงนำมาเป็นข้อย่อยเดียวกัน ดังนี้
แบบธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) และ ธุรกิจกับรัฐ (B2G) ประเภทธุรกิจเหล่านี้ FB แทบไม่มีความสำคัญใด ๆ เลย เพราะเป็นเรื่องของกระบวนการจัดซื้อจัดหา หรือ ต้องมีการประชุมนำเสนอ ทำข้อตกลง ไปจนถึงการประมูล ที่ไม่ใช่ส่งถึงคนจำนวนมากหรือบุคคลทั่วไป ดังนี้ FB จะมีหรือไม่ก็ไม่สำคัญ
แบบธุรกิจต่อลูกค้า (B2C) กลุ่มนี้ย่อมมีผลกระทบโดยตรง เพียงแต่จะมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการใช้งานของธุรกิจนั้นว่าใช้ด้านใด จัดจำหน่าย หรือ ประชาสัมพันธ์ และจะกระทบมากขึ้นหากใช้เป็นช่องทางหลัก ซึ่งธุรกิจโดยรวมก็จะเป็นประเภท B2C คือบริษัทขายสินค้าสู่ผู้บริโภคทั่วไป แต่มีความแตกต่างกันในด้านของขนาดธุรกิจและช่องทางการจัดจำหน่ายเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจแยกแยะได้ตามข้อต่อ ๆ ไป
ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจหรือแบรนด์ขนาดใหญ่ใช้ FB เป็นเพียงหนึ่งในช่องทางสื่อสาร เพราะไม่ได้จัดจำหน่ายเองโดยตรง แม้จะมีประโยชน์ในการสื่อสารหลายด้าน แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดมีผลกระทบ หรือขาดไม่ได้ เพราะการอาศัยเป็นเพียง “ช่องทาง” ที่ตามรอยผู้บริโภคไป ไม่ใช่การชี้นำ กล่าวคือ เพราะคนเล่น FB เยอะจึงตามไปประชาสัมพันธ์ โฆษณาใน FB หากไม่มี FB ผู้บริโภคหันไปใช้อะไร ธุรกิจหรือแบรนด์ก็ตามไปประชาสัมพันธ์ตรงนั้นแทน และปกติก็มักมีการกระจายช่องทางประชาสัมพันธ์ไม่ใช่แต่ FB อยู่แล้ว มีการวางแผนงบประมาณ กล่าวคือไม่น่าจะกระทบอะไรนัก นอกจากปรับแผน ปรับกระบวนการกันไป
ธุรกิจขนาดเล็ก – กลาง หรือจะบอกว่า SME ก็ได้ บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งก็ไม่ต่างจากบริษัท หรือแบรนด์ขนาดใหญ่ คือ ส่วนใหญ่ใช้เป็นเพียงช่องทางประชาสัมพันธ์ บางแห่งก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรจริงจังด้วยซ้ำ (ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ) โดยอย่างยิ่งทุกวันนี้หากธุรกิจเน้นช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ก็น้อยนักที่จะซื้อขายผ่าน FB โดยตรง แอพอย่าง Shopee หรือ Lazada สะดวกกว่ามาก หรือการขายผ่านเว็บไซต์เลยก็ไม่ยากและมีประโยชน์กว่าในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งช่องทางเหล่านี้ก็มีแนวทางการตลาดที่แตกต่างกันไป ที่เห็นน่าจะกระทบกว่าคือเรื่องการสมัครงาน ที่บริษัทขนาดนี้มักใช้ประโยชน์กันมากกว่า
ธุรกิจรายย่อย ในกลุ่มนี้มีความเป็นไปได้มากที่จะส่งผลกระทบในเบื้องต้น เพราะหากลงทุนสร้างฐานไว้กับ FB มาก เช่น มียอด follow หรือยอด Like มาก ก็จะเสียฐานลูกค้าไปโดยทันที รวมทั้งอาจจะลำบากในการหาช่องทางประชาสัมพันธ์ที่ฟรี หรือต้นทุนต่ำเช่นนี้ ซึ่งหลายคนสร้างทุกอย่างจากบนนี้ทั้งสิ้น ตั้งแต่สร้างแบรนด์ ช่องทางประชาสัมพันธ์ โปรโมชั่น ไปจนถึงจัดจำหน่ายเป็นหลักเลยก็มี เหล่านี้ก็จะกระทบหนัก การจะปรับแผนจาก FB ไปสื่ออื่น ๆ ไม่การันตีว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร คนอาจจะไม่รู้จัก หลงลืมไปเลยก็ได้ แต่ทั้งสิ้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการด้วย
กิจการส่วนบุคคล P2C ที่จริงจะหาคำนิยามให้คำนี้ ๆ อย่างเป็นทางการชัดเจนยังไม่ได้ แต่เป็นประเภทที่มีเยอะมากในทุกวันนี้ ที่ส่วนหนึ่งเรียกได้ว่าเป็นการ “ขายตรง Direct sell” แต่คำนี้ถูกนำไปเป็นเชิงลบเสียแล้ว เพราะการขายตรงจริง ๆ ก็คือระหว่างบุคคลสู่ลูกค้าโดยตรง มีทั้งทำเป็นอาชีพเสริมและหลายคนประกอบเป็นอาชีพหลัก เราจะเห็นมากมายในการที่นำสินค้ามาขายให้กลุ่มลูกค้าของตนเอง โดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสินค้าบริษัทตัวเอง แบรนด์ตัวเอง ที่ทำเองผลิตเองก็มีแต่ไม่มาก ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบตรงและชัด เพราะปัจจุบันคือช่องทางหลักของพ่อค้า แม่ค้ากลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งที่ “อาศัย” เป็นช่องทางปกติ ก็ได้รับผลกระทบมากแล้ว แต่หลายรายต้องลงทุนด้านการเรียนรู้ สร้างเทคนิค มีทีมงาน เช่นการ live ขายสินค้าแบบมืออาชีพ การซื้อโฆษณา การสร้างเนื้อหา คอนเทนท์ ต่าง ๆ ที่ไม่อาจเรียนรู้หรือทำได้ชั่วข้ามคืน หรือทำได้โดยลำพัง และหากต้องปรับตัวมันคือการนับ 1 ใหม่ที่ใคร ๆ คงไม่อยากเจอ..
การเปลี่ยนแปลงของอาชีพ
นอกจากคนทำธุรกิจแล้ว ยังมีบางสาขาอาชีพ ที่เกิดและเติบโตมาแบบพึ่งพา FB 100% เช่น โค้ชสอนยิงแอดโฆษณา, คนทำเพจรีวิว ต่าง ๆ Influencer หรือเพจดัง ๆ ที่ได้รับสปอนเซอร์เป็นหลัก หรืออาชีพจำเพาะอื่น ๆ ที่ผมสรุปออกมาได้ไม่หมดและมีที่เรายังไม่รู้อีกพอสมควร กลุ่มเหล่านี้ถ้าเป็นธุรกิจก็อาจเรียกได้ว่าเสี่ยงที่จะเจ๊งกว่าใคร เพราะคงหมดโอกาสสร้างรายได้ไปในทันที
โดยรวมแล้วกลุ่มนี้ก็ไม่ต่างจากคนค้าขายบางกลุ่มดังที่กล่าวไป เพราะพึ่งพาอาศัย FB มาก ทางรอดคือต้องนับ 1 ใหม่ แต่ก็ไม่ง่าย และไม่อาจมั่นใจในทิศทางและผลลัพธ์ที่จะออกมา
แง่ผู้บริโภค
มีไม่น้อยที่เรามักจะเป็นแฟนสินค้า หรือเชิงธุรกิจอาจเรียกว่าเป็นกลุ่มลูกค้าภักดี (loyalty) ที่ต้องเจอความยุ่งยากในการติดตามสินค้าที่เราชื่นชอบ แต่แนวทางการปรับตัวก็ไม่ต่างจากการใช้งานประจำวัน คือเชือว่าน่าจะมีแอพอื่นมาแทนที่ให้เราได้ติดตามเหมือนเดิม
ส่วนใหญ่แล้วพฤติกรรมที่มีต่อสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคมักใช้บน FB คือ ดูความสดใหม่ ความเคลื่อนไหวปัจจุบัน อาจเรียกได้ว่าเป็นการตรวจสอบ หรือต้องการใช้เพียงเป็นข้อมูลประกอบ มากกว่าตัดสินใจในทันที การไม่มี FB กับยุคสมัยนี้ พฤติกรรมอาจไม่เปลี่ยนแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์ม หรือแอพไปก็เท่านั้น
ความคุ้นชิน หรืออะไรที่เราเคยชินแล้วมันย่อมทำให้รำคาญใจเมื่อต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง ใหม่ ๆ ผู้ใช้ผู้บริโภคหลายคนก็อาจไม่อยากปรับตัว แต่หากเกิดขึ้นจริงความเคยชินในการมี Social Network ก็เป็นตัวแปรเช่นกันให้คนหันไปใช้ตัวใหม่แทนที่ได้ไม่ยาก เพราะหลายคนเริ่มขาดมันไม่ได้..
ยากจะเกิดขึ้นจริง
บทความนี้เริ่มเขียนจากการที่เริ่มมีประเด็นทางการเมือง ซึ่ง ณ วันนี้น่าจะเบาบางและไม่ได้เป็นประเด็นอะไรแล้ว และคงยังไม่เกิดขึ้นจริง และยากที่จะเกิดการแบน Facebook แต่สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจในประเทศกำลังประสบ หรือหลายรายยังไม่เข้าใจมากพอคือ การที่เศรษฐกิจของประเทศเรากำลังพึ่งพาต่างประเทศอย่างมาก เราเคยเป็นภาคการเกษตรรายใหญ่ เราเคยเป็นฐานการผลิต เราเคยเป็นแหล่งลงทุน ถ้าคิดดี ๆ สิ่งที่เราเคยเป็นนี้คือ “ต่างประเทศต้องการเรา”
แต่การกลายเป็น “ประเทศท่องเที่ยว” เป็นหลักขึ้นทุกวันนั้นมันหมายความว่า “เราต้องการต่างประเทศ” มากเกินไป มิหนำซ้ำภาคการลงทุนที่ไม่น่ามั่นใจจากความมั่นไม่คงทางการเมืองมาหลายปี ที่ผมไม่อาจสรุปว่าใครผิดถูกอย่างไร แต่สุดท้ายหลายคนอาจไม่ได้มอง เพราะผลลัพธ์มันเกิดช้า ทุนใหญ่ ๆ ไม่มีใครถอนการลงทุนได้โดยทันทีทันใด แต่ถ้าย้อนมองไปมันหายไปเยอะแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหากมองลงลึกไปจะพบว่าการมีปัญหากับ Facebook นั้นมันเป็นเรื่องไร้สาระในเชิงธุรกิจโดยรวมของประเทศไปเลย…
ขอขอบคุณบทความดีๆจาก ThaiBussiness Search
Comments