top of page
psrwbiz

Monopoly เกมส์เศรษฐี นี่คือกลยุทธ์ธุรกิจ


รู้จักเกมกระดาน (Board Game) ที่มีชื่อว่า Monopoly หรือ เกมเศรษฐี กันไหมครับ? สมัยเด็กๆ ผมเล่นเกมนี้ครั้งแรกโดยยังไม่รู้จัก Monopoly ที่เป็นต้นฉบับต่างประเทศ ผมเล่นเกมที่คล้ายคลึงของไทย ชื่อว่า “ซุปเปอร์เศรษฐี” ที่มีลักษณะกล่องคล้ายๆ รูปประกอบด้านล่างนี้ ต่างกันที่ในรูปประกอบนี้น่าจะเป็นรุ่นใหม่กว่าแล้ว วันนี้จะมาพูดถึงเกมนี้ที่มันเกี่ยวยังไงกับกลยุทธ์ธุรกิจต้องลองอ่านดู เชื่อว่าเป็นบทความที่มีข้อคิดทีเดียว


เกมส์ Monopoly

มาทำความรู้จักเกมเศรษฐี หรือ Monopoly นี่กันหน่อย ชื่อเกมนี้มีที่มา แล้วก็มาจากเศรษฐีจริง ๆ ชาวอเมริกัน เธอมีชื่อว่า Ellizabeth Magie Phillips เธอสร้างเกมขึ้นมาชื่อ The Landlord Game เพื่อจำลองเรื่องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รายได้ สร้างความเข้าใจเรื่องภาษี (single tax theory of Henry George) โดยได้จดสิทธิบัตรไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) แต่เกมในตอนนั้นก็เป็นเกมที่เล่นกันในวงจำกัด จนกระทั่ง Charles B. Darrow ได้มาลองเล่นที่บ้านเธอ แล้วนำไปพัฒนา และก็ขายให้บริษัทพาร์คเกอร์ บราเธอร์ (Parker Brother) พัฒนาต่อ ๆ มาจนเป็น Monopoly ถึงปัจจุบัน ส่วนของไทยนั้น คาดว่าได้รับแรงบันดาลใจ.. มาอีกที (ก็ไม่รู้สินะ ไม่ทราบจริงๆ) ประวัติของเกมนี้เต็มๆ ลองดูได้ที่นี่ครับ https://en.wikipedia.org/wiki/Monopoly_(game)


รูปแบบ วิธีการเล่น

เป็นเกมกระดาน (Board Game) ที่ใช้วิธีการผลัดกันทอดลูกเต๋า 2 ลูก และเดินไปตามช่องนับจำนวนตามที่ทอดเต๋าได้ กรณี ออกเลขเป็นคู่(เลขเหมือนกัน) ก็จะได้ Double หรือคูณสอง โดยส่วนใหญ่จะเล่นได้สูงสุด 4 คน เริ่มต้นจะมีเงินมาให้จำนวนหนึ่ง และ เมื่อเดินครบรอบกระดานก็จะได้รับเงินเดือนเพิ่มทุก ๆ รอบ

ระหว่างการเดินแต่ละช่อง แต่ละรอบของผู้เล่น ก็อาจจะเดินไปตกตามเมืองต่าง ๆ หรือตกในช่องพิเศษต้องเปิดการ์ดที่เป็น โอกาส(Chance) กับ เปิดหีบ (Community Chest) ทั้งสองก็เป็นเรื่องของการวัดดวง ว่าจะได้เงิน เสียเงิน หรือเจอสถานการณ์อะไร ส่วนการที่เดินไปตกช่องปกติที่เป็นเมืองต่าง ๆ กรณีที่ยังไม่มีเจ้าของ ก็สามารถซื้อมาครอบครองได้ เรียกว่าเป็นการลงทุน แต่ในกรณีที่ตกของคนอื่น ก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของ(ผู้เล่นอื่น) มีการลงทุนซื้อบ้าน ซื้อโรงแรม อะไรเพิ่มมากน้อยแค่ไหน เราตกของเขาเราต้องจ่าย เขามาตกของเราเราก็ต้องจ่ายนั่นเอง สุดท้ายใครมีเงินมากสุดชนะ ใครเงินหมดก็แพ้ไป เกมมีหลักง่าย ๆ ประมาณนี้ ที่บางรุ่น บางแบบของเกมอาจมีกฎย่อย ๆ ก็ว่ากันไป

เกมส์ Momopoly ภาพจาก umdrums@Flicklr


กลยุทธ์ธุรกิจ

หลัก ๆ ของเกมนี้ คือการลงทุน หากซื้อเมืองไว้มาก โอกาสที่คนอื่นจะเดินมาตก และจ่ายค่าเช่าให้เราก็มีสูง เหมือนการมีกิจการใหญ่โตโอกาสสร้างกำไรก็มากขึ้น แต่ด้วยความที่เราเริ่มต้นที่เงินเท่ากัน การกว้านซื้อไว้มาก ๆ อาจทำให้ลำบากเวลาไปตกที่คนอื่น เพราะเงินเหลือน้อยลง ถ้าไม่มีเงินจ่าย ก็ต้องจำนองที่ดินของเราไปแบบขาดทุนเพื่อจ่ายให้คนอื่น และนั่นทำให้เราเริ่มเสียเปรียบ

หากพิจารณาการทำธุรกิจนั้น ถ้าไม่กล้าลงทุนเหมือนเกม ๆ นี้ ที่เล่นแบบไม่ลงทุนเลย รอเพียงเงินเดือน ก็จะเดินเพื่อมาจ่ายค่าเช่าให้คนอื่นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเงินย่อมหมดและแพ้ไป ซึ่งเปรียบกับคนทำกิจการหากไม่ขยับขยาย ไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายคนอื่นก็เอาไปเสียหมด รอวันถอยหลังไม่ช้าก็เร็ว (ในชีวิตจริงก็อาจไม่เจ๊งแค่ไม่ก้าวหน้า) ในทางตรงกันข้าม หากบ้าลงทุนโดยไม่คิดให้ดีเสียหน่อยก็อันตราย ถ้าโชคดีก็ชนะได้ในบางเกม แต่มักไม่เสมอไป และนี่มันก็กลายเป็นเหมือนเพียงเล่นเกมแบบพนันวัดดวง ที่บนธุรกิจจริงไม่มีใครทำ (ซึ่งอาจมีแบบไม่รู้ตัวอยู่เหมือนกัน) เพราะควรต้องดูเงินทุน ดูทรัพย์สิน Cash Flow / Asset ว่าเหมาะสมจะลงทุนหรือยัง ไม่เช่นนั้นแล้ว กว้านซื้อจนเงินหมด เวลาชักหน้าไม่ถึงหลังมันก็จะพังอย่างรวดเร็ว หากเคยเล่นเกมนี้มาพอสมควรคงเข้าใจได้ว่าเป็นอย่างไร (คนทำธุรกิจนักบริหารจะเข้าใจ ให้ความสำคัญเรื่อง Cash Flow กระแสเงินสดเป็นอย่างดี)

กฎของเกมนี้อีกอย่างหนึ่ง หากเป็นเจ้าของเมืองที่ติดกัน(สีเหมือนกัน)ในเกม จะทำให้ได้โบนัสจากค่าเช่าเพิ่มพอควร นี่ทำให้ได้เปรียบมาก ๆ หากคู่แข่งมาตกที่เมืองใดเมืองหนึ่งของเราที่ได้โบนัส เปรียบกับกลยุทธ์ระดับธุรกิจในการเติบโต (Growth Strategy) การเติบโตแบบมุ่งเน้น (Concentration) ไม่แน่ใจว่าจะเรียกภาษาไทยว่าอะไรดี แต่เป็นการเติบโตสิ่งที่ยังเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม ความเสี่ยงน้อยขยายผลได้ง่าย นี่ก็คล้ายกัน หากไม่ลงทุนสะเปะสะปะ รอจังหวะให้ได้เมืองเชื่อมต่อกันนั้น มันก็ทำให้ได้เปรียบสูงจากนั้นจึงค่อยขยายไปในธุรกิจอื่นๆบ้าง (Diversification) ไปก็น่าจะดีกว่า

และด้วยกฎเดียวกันนี้เอง บางทีการซื้อที่ดิน ที่เป็นการขัดขวาง หรือดักคนอื่นๆ ไม่ให้เขาได้เมืองหรือที่ดินติดๆ กัน ก็เป็นสิ่งจำเป็นคล้ายๆ การปิดกั้นคู่แข่งทางธุรกิจ เพื่อลดความเสี่ยงของเราไปในตัวนี้ ก็เป็นกลยุทธ์การแข่งขันที่ต้องพิจารณาในเกม ทว่าบางทีมัวแต่กันท่าคนอื่น ของเราเองไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันก็มีเหมือนกัน มันก็ต้องคิดให้ดี ที่กล่าวมานี่เป็นเพียงมุมหนึ่งที่พึงสังเกตได้จากเกม


โลกแห่งความจริง

จริงๆ แล้วเกมนี้ไม่ซับซ้อน เทคนิคก็มีอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเมืองกระจาย ๆ แต่ค่อย ๆ ใส่บ้าน โรงแรม หรือการถือครองส่วนใหญ่(ติดกันเพื่อโบนัส) อะไรก็ตาม ทว่าปัจจัยอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลให้แพ้ชนะและบนโลกความจริงก็ต้องเจอคือ โอกาส และอุปสรรค หรือที่เราเรียกว่าสถานการณ์, โชค, ดวง?! เหมือนการเดินหมาก ไม่รู้ว่าจะเจออะไร อาจต้องไปเปิดการ์ดต่างๆ ที่ทำให้ ได้ลาภลอย หรือโชคร้ายมาเยือน แน่นอนว่าธุรกิจจริง ๆ ก็เป็นเช่นนี้ได้ วันดีคืนดี น้ำท่วม, ถูกโกง, ของเสียหาย ต่าง ๆ นา ๆ หรือจู่ ๆ ได้ออร์เดอร์มาล็อตใหญ่ เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับมือ และดำเนินการต่อไปอย่างไร จะคว้าโอกาส หรือรอดจากอุปสรรคไหมนั่นก็อีกเรื่อง..

คนที่เคยเล่นเกมนี้มา จะรู้ดีว่า เกมเศรษฐี ก็ต้องมีโอกาสทำเงินมากๆ ด้วยการเติบโต ไม่โตไม่คิดขยายก็ไม่ได้เป็นเศรษฐี ในขณะเดียวกันก็อย่าคิดแต่ว่าสร้างมาก โตมาก ดูน่าจะไปได้สวยมาก จะเสมอไป มีพลิกล๊อก มีผันแปรได้ ไม่ว่าจะเป็นการพลาดทางกระแสเงินสด (Cash Flow) เมื่อต้องจ่ายแล้วไม่มี จำนำ จำนองคือภาวะที่ยุ่งเหยิง การลงทุนที่ไร้ประโยชน์ก็เช่นกัน ในเกม Monopoly นั้น มันเกิดขึ้นได้ ในเกมยาว แต่ก็ใช้เวลาไม่นาน อาจจะแค่สักชั่วโมง และเริ่มใหม่ได้..

แต่เหตุที่มาเขียนนี้ เพราะในชีวิตจริงมี ก็ยังประสบพบเห็นอยู่แต่คงไม่บังอาจไปสอนอะไรเขา เพราะหลงไปในกระแสการที่คิดว่าตนนั้นเติบโต ขาดการบริหาร ขาดการจัดการที่ดี รอบของเกม กับความจริงมันต่างกันนัก ชั่วโมง กับ 10 ปี แบบนี้ก็ว่าได้ กระแสการตลาด กระแสโลก นวัตกรรม เหล่านี้ก็เหมือนคลื่นการลงทุน ที่มีขาขึ้น แต่หากขาดความเข้าใจ มันมีขาลงได้เช่นกัน เหมือนหลายกิจการยักษ์ใหญ่ที่ล้มไป ในโลกนี้ก็มีให้เห็น แต่ไม่ต้องเปรียบเทียบไปไกล เล็ก ๆ ก็มีพอโตก็ขยาย ขยายเมื่อจัดการไม่ได้มันก็กลายเป็นโดมิโน่ล้ม อันนี้เห็นจากใกล้ ๆ ตัว อาจเพียงเพราะคิดง่าย ๆ ว่าที่ผ่านมายังรุ่งมาได้ เลยไม่สนใจการบริหารจัดการ..

ฝากเป็นแง่คิดกลยุทธ์ธุรกิจไว้วันนี้ ลองไปหาเกมเศรษฐี (Monopoly) เล่นดูบ้างก็ดี (ที่ไม่ใช่ในเกมใน Line) อาจนึกถึงสิ่งที่ผมเขียนไว้ออกมากขึ้น แต่ถ้าไม่สะดวก ก็ไม่เป็นไร ข้อคิดง่าย ๆ ทำไมหลายๆ ธุรกิจ ดูใหญ่โต ดูมั่นคงก็ยังต้องวางแผน? ก็เพราะไม่รู้ว่าโอกาส และอุปสรรคข้างหน้ามันคืออะไร อีกทั้ง เจ้าของทำไมจึงต้องจ้างคนอื่นมาบริหาร? หรือไม่บริหารเองเมื่อเติบโต.. เพราะมันไม่ใช่งานที่ใครทำก็ได้ยังไงละครับ และนี่คือเขาเล่นเกมแบบมีกลยุทธ์ มิใช่อาศัยดวง..


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก Sirichaiwatt

ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page